เกี่ยวกับโครงการ
หลักการและเหตุผล
หลังยุคการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคมโลกในหลากหลายมิติ ทั้งทางด้านการเผชิญกับสังคมสูงวัย (Aging Society) จนเกิดวิกฤติด้านจำนวนนักศึกษาที่ลดลง การแข่งขันทางการอุดมศึกษากลับรุนแรงขึ้นเพื่อแย่งจำนวนผู้สมัครเรียน การปรับเปลี่ยนของระบบเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมหนัก (3.0) มาสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-based Economy) หรือ ระบบเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งจะเป็นระบบเศรษฐกิจแบบอัตโนมัติ (Automation Economy) ที่ใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติในการทำงาน ทั้งนี้เป็นผลพวงจากการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นสำคัญ การเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์มอัจฉริยะ (Smart Platform) ในรูปแบบต่าง ๆ ในช่วงมาตรการปิดเมือง (Lockdown) เพื่อควบคุมโรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้เรียนทุกระดับชั้นต้องเรียนหนังสืออยู่ที่บ้าน จนกลายมาเป็นระบบการศึกษาออนไลน์แบบคู่ขนาน (Hybrid Learning) ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้ผ่านระบบออนไลน์และการเรียนรู้ในที่ตั้ง ในชั้นเรียนกระทำไปพร้อมกันได้อย่างไร้รอยต่อด้วยอุปกรณ์อัจฉริยะแบบเคลื่อนที่ (Smart Mobile Device) ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้การจัดการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในปัจจุบันทั้งภาพรวมของประเทศและรายสถาบันต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงตามกระแสสังคมโลกดังกล่าวอย่างไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้่รัฐบาลยังออกเครื่องมือใหม่ ๆ มากำกับสถาบันอุดมศึกษา เช่น การแบ่งกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาเพื่อใช้ในการจัดสรรด้านงบประมาณ เป็นต้น ส่งผลให้สถาบันอุดมศึกษาไทยต้องแสวงหารายได้เพื่อพึ่งพาตนเองมากขึ้น ทำให้อาจกลายเป็นธุรกิจการศึกษาต่อไปในอนาคตหากสถาบันอุดมศึกษาไม่รีบเร่งปรับตัวและพัฒนาตนเอง
การพลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นนโยบายรูปแบบใหม่ที่เสนอโดยรัฐบาลไทย เพื่อมุ่งสู่เศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูง กล่าวคือ ประเทศไทย 1.0 เน้นการทำการเกษตร 2.0 มุ่งเน้นการเปลี่ยนไปใช้อุตสาหกรรมเบา และ 3.0 เป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนัก ประเทศไทยกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่ติดกับดักรายได้ปานกลางในหลายแง่มุม และการเติบโตของไทยชะลอตัวลง ดังนั้นนโยบายประเทศไทย 4.0 จึงถูกมองว่าเป็นแนวทางในการแก้ปัญหานี้ และจะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้กับอนาคตที่ดีขึ้น สำหรับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อก้าวสู่การเป็น "ไทยแลนด์ 4.0" นั้น จะต้องเปลี่ยนจากความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบของประเทศที่มีอยู่ 2 ด้าน คือ ความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายเชิงวัฒนธรรมไปสู่ความได้เปรียบทางการแข่งขัน ขณะเดียวกันยังต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่า (Value Added) ไปสู่การสร้างมูลค่า (High Value) หรือการสร้างผลิตภาพ (Productivity) รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจัดเปลี่ยนมหาวิทยาลัยไทยเสียใหม่ ด้วยการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยแบบก้าวกระโดด (Transformative Leap) ไม่ใช่เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental Steps) การพลิกโฉมสถาบันอุดมศึกษานี้ก็เพื่อสร้างความเป็นเลิศและสร้างกำลังคนขั้นสูงตามความต้องการของประเทศ ทั้งนี้รัฐบาลต้องการให้มหาวิทยาลัยเป็นแนวหน้า (Forefront) ในการขับเคลื่อนประเทศสู่ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-based Economy) เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูง รวมทั้งการสร้างสังคมเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล (Data-Driven Economy) และการปรับตัวจากระบบสังคมฐานความรู้ และเศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Society and Knowledge-based Economy) มาสู่ยุคการเป็นระบบสังคมเศรษฐกิจฐานความรู้ยุคโลกาภิวัฒน์ (Globalizing Knowledge-based Society and Economy) ที่มนุษย์ในอนาคตต้องทำงานคู่ขนานไปกับปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) และหุ่นยนต์ หรือที่เรียกว่า Cobot (Collaborative Robots) ดังนั้นรัฐบาลจึงปรับเปลี่ยนเป้าหมายของการเรียนรู้ใหม่ จากเรียนเพื่อรู้ไปสู่การเรียนรู้เพื่อนำความรู้ไปสร้างนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนระบบสังคมและเศรษฐกิจในอนาคต
การบริหารจัดการอุดมศึกษาไทยในอนาคตจึงถูกรัฐบาลกำหนดให้เป็นหน่วยงานในการสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก (World Class University) ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งในการสร้างรายได้เข้าสู่มหาวิทยาลัย การทำงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างนวัตกรรมและสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่ภาครัฐ การพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ต้องมีความยืดหยุ่นผู้เรียนต้องได้เรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในการทำงานในยุคศตวรรษที่ 21 อาทิเช่น ความเข้าใจและการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking) การทำงานร่วมกับผู้อื่น (Collaborative Skills) และการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมที่หลากหลาย (Cross-cultural Competence) หลักสูตรการอุดมศึกษาต้องพัฒนาตามแนวทาง Outcome Based Education: OBE ที่เน้นการบูรณาการกับสาขาอื่น ๆ และมุ่งเน้นฝึกประสบการณ์ตามสถานที่จริง/สหกิจศึกษา และใช้สอนให้น้อยลง เรียนให้มากขึ้น (Teach less, learn more) และสามารถเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) รวมทั้งสามารถ Reskill และ Upskill ได้อย่างต่อเนื่อง ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้อุดมศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนตัวเองตามไปด้วย ต้องปรับวิธีคิดและวิธีทำงานเพื่อตอบโจทย์อุปสงค์ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ที่เน้นการสร้างนวัตกรรม และสร้างกำลังคนสำหรับบริบทโลกใหม่ ดังนั้นการอุดมศึกษาไทยในอนาคตต้องมุ่งสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคนในทุกช่วงวัย (All Ages) ให้เป็นผู้ที่มีคุณธรรม จริยธรรม และมีสมรรถนะ (Competency) หรือ ทักษะ (Skill) ที่จำเป็น รองรับสังคมและเทคโนโลยีดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างฉับพลัน (Disruption) ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้เป็นอย่างดี รวมถึงเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ของประเทศในระดับสากลและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน แต่ในขณะเดียวกันก็มีความรักและภูมิใจในสถาบัน วัฒนธรรม และประเพณีที่ดีงานของชาติ ทั้งนี้ให้การสร้างบัณฑิตและพัฒนากำลังคนต้องทำร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชนอย่างใกล้ชิด
ที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ในฐานะที่เป็นองค์กรเครือข่ายหนึ่งของสถาบันอุดมศึกษา ได้ตระหนักถึงปัญหาการศึกษาและความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จึงเห็นสมควรมอบหมายให้สภาอาจารย์มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางวิชาการประจำปี พ.ศ. 2566 ภายใต้หัวข้อ เรื่อง “อุดมศึกษาอัจฉริยะ: เปิดโอกาสเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต" (Smart University: Open Opportunities for Lifelong Learning) เพื่อเป็นเวทีให้บุคลากรทางการศึกษาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมุมมองที่มีต่อวิกฤติและโอกาสของอุดมศึกษาไทยในการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล รวมทั้งสามารถคิดวิเคราะห์เพื่อนำไปสู่การเตรียมความพร้อมและสามารถปรับตัวเพื่อรับมือกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยจัดให้มีการบรรยายพิเศษจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ การเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ การนำเสนอผลงานการวิจัยของครู อาจารย์ บุคลากรสายสนับสนุนวิชาการ และบุคลากรทั่วไป ในรูปแบบของการนำเสนอด้วยวาจาและโปสเตอร์ พร้อมกันนี้ ปอมท. ได้จัดให้มีพิธีรับโล่รางวัลพระราชทาน “อาจารย์ดีเด่นแห่งชาติ” ประจำปี พ.ศ. 2566 จำนวน 6 สาขา ได้แก่ 1) สาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี 2) สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพ 3) สาขาสังคมศาสตร์และรับใช้สังคม 4) สาขามนุษยศาสตร์ 5) สาขาศิลปกรรมศาสตร์ และ 6) สาขาวิจัยจากงานประจำและวิจัยในชั้นเรียน เพื่อเชิดชูเกียรติอาจารย์ที่ปฏิบัติงานในมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความรู้ความสามารถในเชิงวิชาการ มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม มนุษย์สัมพันธ์ และอุทิศตนเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ให้เป็นตัวอย่างแก่บุคลากรทางการศึกษาและเพื่อผดุงเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย
กำหนดการ (22/11/66)